วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก

 มหาชาติ  เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คนไทยรู้จักและคุ้ยเคยกับมหาชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในหลักฐานในจารึกนครชุม  และในสมัยอยุธยาก็ได้มีการแต่งและสวดมหาชาติคำหลวงในวันธรรมสวนะ  ส่วนการเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่สำคัญในทุกท้องถิ่นและมีความเชื่อกันว่า  การฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์มาก
ผู้แต่ง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กวีสำนักวัดถนน
กวีวัดสังขจาย
พระเทพโมลี (กลิ่น)
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ลักษณะคำประพันธ์
ความเรียงร้อยแก้ว  ร่ายยาว  กลบท  กลอนพื้นบ้าน
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อใช้ในการสวด  เทศนาสั่งสอน
ความเป็นมา
เวสสันดรชาดกนี้เป็นเรื่องใหญ่จัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดกรวมเรื่องใหญ่ 10 เรื่อง
ที่เรียกกันว่า  ทศชาติ  แต่อีก 9 เรื่อง  ไม่เรียกว่ามหาชาติ  คงเรียกแต่เวสสันดรชาดก
เรื่องเดียวว่า  มหาชาติ  ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โปรดประทานอธิบายว่า  พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า
เรื่องมหาเวสสันดรชาดก  สำคัญกว่าชาดกอื่น ๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์
ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี

          อานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ  การตั้งใจฟังเทศน์มหาชาติให้จบเพียงวันเดียวครบบริบูรณ์  ทั้ง 13 กัณฑ์จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
          1.  เมื่อตายจากโลกนี้แล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า  พระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  ในอนาคต
          2.  เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
          3.  เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
          4.  เมื่อถึงยุคพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
          5.  ได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคล  ในบวรพุทธศาสนา
มูลเหตุการณ์เล่าเรื่องมหาชาติ
          คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า  เรื่องเวสสันดรชาดกเป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่นรูป  และพระประยูรญาติที่นิโครธารามหาวิหารในนครกบิลพัสดุ์  ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา  และพระวงศ์ศากยะบรรดาพระประยูรญาติไม่ปรารถนาจะทำความเคารพพระองค์  ด้วยเห็นว่าอายุน้อยกว่า
          พระองค์ทรงทราบความคิดนี้จึงทรงแสดงยมกปกฏิหาริย์  โดยเสด็จขึ้นเบื้องนภาอากาศแล้วปล่อยให้ฝุ่นละอองธุลีพระบาทตกลงสู่เศียรของพระประยูรญาติทั้งหลาย  พระประยูรญาติจึงได้ละทิ้งทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า  ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์จึงได้ทูลถาม  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  แล้วจึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก  หรือเรื่องมหาชาติให้แก่พระภิกษุและพระประยูรญาติ
          มหาเวชสันดรชาดก  เป็นชาดกที่มีความสำคัญมากกว่าชาดกอื่น ๆ เพราะพระบารมีของพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบริบูรณ์ในพระชาตินี้  มหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 บารมี  คือ

ทานบารมี  = ทรงบริจาคทรัพย์สิน  ช้าง  ม้า  ราชรถ  พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
ศีลบารมี  = ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัดระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
เนกขัมมบารมี  = ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
ปัญญาบารมี  = ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
วิริยาบารมี  = ทรงปฏิบัติมิได้ย่อหย่อน
สัจจบารมี  = ทรงลั่นพระวาจายกกุมารให้ชูชก  เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามให้
ขันติบารมี  = ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต  และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น  แม้แต่ตอนที่ทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณพระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
เมตตาบารมี  = เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์  มาทูลขอช้างปัจจัยนาค  เนื่องจากเมืองกลิงคราษฎร์ฝนแล้ง  ก็ทรงพระเมตตตาประทานให้  และเมื่อชูชกมาทูลขอสองกุมาร  อ้างว่าตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
อุเบกขาบารมี  = เมื่อทรงเห็นสองกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี  วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ  ทรงบำเพ็ญอุเบกขา  คือทรงวางเฉย  เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
อธิษฐานบารมี  = คือทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณาเบื้องหน้าก็มิได้ทรงย่อท้อ  จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์

เนื้อเรื่อง







          หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหารย์  ทำให้พระประยูรญาติละทิฐิยอมถวายบังคม  ก็บังเกิดฝนโบกขรพรรษ  พระภิกษุทั้งหลายจึงได้ทูลถามพระพุทธเจ้า  พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า  ฝนชนิดนี้เคยตกมาแล้วในอดีต  พระองค์จึงทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก   หรือเรื่องมหาชาติ  ทั้ง 13 กัณฑ์  ตามลำดับ  ดังนี้          กัณฑ์ที่ 1 ทศพรา  พระอินทร์ประสาทพรแก่พระนางผุสดี  ก่อนที่จะจุติลงมาเป็นพระราชมารดาของพระเวสสันดร  แต่ปางก่อนนั้นผุสดีเทวีเสวยชาติเป็นอัครมเหสีของพระอินทร์  เมื่อจะสิ้นพระชนมายุจึงขอกัณฑ์ทศพรจากพระอินทร์ได้ 10 ประการ  ทั้งยังเคยโปรยผงจันทร์แดง  ถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้าและอธิฐานให้ได้เกิดเป็นมารดาพระพุทธเจ้าด้วย พร 10 ประการนั้นมีดังนี้
1.  ขอให้เกิดในกรุงมัททราช  แคว้นสีพี
2.  ขอให้มีดวงเนตรคมงามและดำขลับดั่งลูกเนื้อทราย
3.  ขอให้คิ้วคมขำดั่งสร้อยคอนกยูง
4.  ขอให้ได้นาม "ผุสดี" ดังภพเดิม
5.  ขอให้พระโอรสเกริกเกียรติที่สุดในชมพูทวีป
6.  ขอให้พระครรภ์งาม  ไม่ป่องนูนดั่งสตรีสามัญ
7.  ขอให้พระถันเปล่งปลั่งงดงามไม่ยานคล้อยลง
8.  ขอให้เส้นพระเกศาดำขลับตลอดชาติ
9.  ขอให้ผิวพรรณละเอียดบริสุทธิ์ดุจทองคำธรรมชาติ
10. ขอให้ได้ปลดปล่อยนักโทษที่ต้องอาญาประหารได้
          กัณฑ์ที่ 2 หิมพานต์  พระนางผุสดีจุติลงมาเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช  เมื่อเจริญชนม์ได้ 16 ชันษา  จึงได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้ากรุงสญชัยแห่งสีวิรัฐนคร  ต่อมาได้ประสูติพระโอรสนามว่า "เวสสันดร"  ในวันที่ประสูตินั้นได้มีนางช้างฉันททันต์ตกลูกเป็นช้างเผือกขาวบริสุทธิ์จึงได้นำมาไว้ในโรงช้างต้นคู่บารมี ให้นามว่า "ปัจจัยนาค"  เมื่อพระเวสสันดรเจริญชนม์ 16 พรรษา  พระราชบิดาก็ยกราชสมบัติให้ครอบครองและทรงอภิเษกกับนางมัทรี  พระราชธิดาราชวงศ์มัททราช  มีพระโอรสชื่อ  ชาลี  พระธิดาชื่อกัณหา  พระองค์ได้สร้างโรงทาน  บริจาคทานแก่ผู้เข็ญใจ  ต่อมาพระจ้ากาลิงคะแห่งนครกลิงคราษฎร์  ได้ส่งพราหมณ์มาขอพระราชทานช้างปัจจัยนาคเพื่อให้ฝนตกในบ้านเมืองที่แห้งแล้งกันดาร  พระองค์จึงพระราชทานช้างปัจจัยนาคให้แก่พระเจ้ากาลิงคะ  ชาวกรุงสัญชัยไม่พอใจที่พระราชทานช้างคู่บ้านคู่เมืองไป  จึงเนรเทศพระเวสสันดรออกนอกพระนคร
          กัณฑ์ที่ 3 ทานกัณฑ์  พระเวสสันดรทรงมหาสัตตสดกทาน  คือ  การแจกทานครั้งยิ่งใหญ่ก่อนที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี  ชาลีและกัณหาออกจากพระนคร  จึงทูลขอพระราชทานโอกาสบำเพ็ญมหาสัตตสดกทาน  คือ  การให้ทานครั้งยิ่งใหญ่  อันได้แก่  ช้าง  ม้า  รถ  โคนม  นารี  ทาสี  ทาสา  รวมทั้งสุราบาน  อย่างละ 700
          กัณฑ์ที่ 4 วนประเวศน์  เป็นกัณฑ์ที่สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต  เมื่อเดินทางถึงนครเจตราชทั้งสี่กษัตริย์จึงแวะเข้าประทับหน้าศาลาพระนคร  กษัตริย์ผู้ครองนครเจตราชจึงทูลเสด็จครองเมือง  แต่พระเวสสันดรทรงปฏิบัติ  กษัตริย์เจตราชจึงมอบหมายให้พรานเจตบุตรผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญป่าเป็นผู้รักษาประตูป่าไม้  กษัตริย์ทั้ง 4 พระองค์ปลอดภัย  และเมื่อเสด็จถึงเขาวงกตได้พบอาศรม  ซึ่งท้าววิษณุกรรมเนรมิตตามพระบัญชาของพระอินทร์  กษัตริย์ทั้งสี่จึงทรงผนวชเป็นฤาษีพำนักในอาศรมสืบมา
          กัณฑ์ที่ 5 ชูชก  ในแคว้นกาลิงคะมีพราหมณ์แก่ชื่อชูชกพำนักในบ้านทุนวิฐะเที่ยวขอทานตามเมืองต่าง ๆ เมื่อได้เงินถึง 100 กหาปณะ  จึงนำไปฝากไว้กับพราหมณ์ผัวเมียแล้วออกเดินทางขอทานต่อไป  เมื่อเห็นว่าชูชกหายไปนานจึงได้นำเงินไปใช้เป็นการส่วนตัว  เมื่อชูชกเดินทางมาทวงเงินคืนจึงยกนางอมิตดาลูกสาวให้แก่ชูกชก  นางอมิตดาเมื่อมาอยู่ร่วมกับชูชกได้ทำหน้าที่ของภรรยาที่ดี  ทำให้ชายในหมู่บ้านเปรียบเทียบกับภรรยาของตน  หญิงในหมู่บ้านจึงเกลียดชังและรุมทำร้ายทุบตีนางอมิตดา  ชูชกจึงเดินทางไปทูลขอกัณหาชาลีเพื่อมาเป็นทาสรับใช้  เมื่อเดินทางมาถึงเขาวงกตก็ถูกขัดขวางจากพรานเจตบุตรผู้รักษาประตูป่า
          กัณฑ์ที่ 6 จุลพน  พรานเจตบุตรหลงกลชูชก  ที่ได้ชูกลักพริกขิงให้พรานดู  อ้างว่าเป็นพระราชสาสน์ของพระเจ้ากรุงสญชัยจะนำไปถวายพระเวสสันดร  พรานเจตบุตรจึงต้อนรับและเลี้ยงดูชูชกเป็นอย่างดีและได้พาไปยังต้นทางที่จะไปอาศรมฤาษี
          กัณฑ์ที่ 7 มหาพน  เมื่อถึงอาศรมได้พบกับอจุตฤาษี  ชูกชกใช้คารมหลอกล่อจนอจุตฤาษีให้ที่พักหนึ่งคืนและบอกเส้นทางไปยังอาศรมพระเวสสันดร  พร้อมพรรณนาหมู่สัตว์และพรรณไม้ตามเส้นทางให้ชูชกฟัง
          กัณฑ์ที่ 8 กัณฑ์กุมาร  เป็นกัณฑ์ที่พระเวสสันดรทรงให้ทานสองโอรสแก่เฒ่าชูชก  พระนางมัทรีฝันร้ายเหมือนบอกเหตุแห่งการพลัดพราก  รุ่งเช้าเมื่อพระนางมัทรีเข้าป่าหาอาหารแล้ว  ชูชกจึงเข้าเฝ้าทูลขอสองกุมาร  สองกุมารลงไปซ่อนตัวอยู่ที่สระ  พระเวสสันดรจึงเสด็จติดตามหาสองกุมารแล้วมอบให้แก่ชูชก
          กัณฑ์ที่ 9 กัณฑ์มัทรี  พระนางมัทรีเดินเข้าไปหาผลไม้ในป่าลึกจนคล้อยเย็นจึงเดนทางกลับอาศรม  แต่มีเทวดาแปลงกายเป็นเสือนอนขวางทางจนค่ำ  เมื่อกลับถึงอาศรมไม่พบโอรสธิดาและพระเวสสันดรได้กล่าวว่านางนอกใจ  พระนางมัทรีจึงออกเที่ยวหาโอรสธิดาและกลับมาสิ้นสติต่อเบื้องพระพักตร์  พระองค์ทรงตกพรทัยลืมตนว่าเป็นดาบสจึงทรงเข้าอุ้มพระนางมัทรีและทรงกันแสง  เมื่อพระนางมัทรีฟื้นจึงถวายบังคมประทานโทษ  พระเวสสันดรจึงบอกความจริงว่าได้ประทานโอรสธิดาแก่ชูชกแล้ว  หากชีวิตไม่สิ้นคงจะได้พบกัน  พระนางมัทรีจึงได้ทรงอนุโมทนาในปิยบุตรทานนั้น
          กัณฑ์ที่ 10 สักรบรรพ  พระอินทร์เกรงว่าพระเวสสันดรจะประทานพระนางมัทรีให้แก่ผู้ที่มาขอ  จึงแปลเป็นพราหมณ์เพื่อมาทูลขอพระนางมัทรี  พระเวสสันดรจึงประทานให้พระนางมัทรีก็ยินดีอนุโมทนาเพื่อร่วมทานบารมีให้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ  เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวสะท้าน  พระอินทร์ในร่างพราหมณ์จึงฝากพระนางมัทรีไว้ยังไม่รับไป  แล้วตรัสบอกความจริงและถวายคืนพร้อมถวายพระพร 8 ประการ
          กัณฑ์ที่ 11 มหาราช  เมื่อเดินทางผ่านป่าใหญ่ชูชกจะผูกสองกุมารไว้ที่โคนต้นไม้  ส่วนตนเองปีนขึ้นไปนอนต้นไม้  เหล่าเทพเทวดาจึงแปลงร่างลงมาปกป้องสองกุมารจนเดินทางถึงกรุงสีพี  พระเจ้ากรุงสีพีเกิดนิมิตฝันตามคำทำนายนั้นนำมายังความปีติปราโมทย์  เมื่อเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้า  ทอดพระเนตรเห็นชูชกและกุมารทั้งสองพระองค์  ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน  ต่อมาชูชกก็ถึงแก่ความตายเพราะกินอาหารมากเกินขนาดจนไม่ย่อย  พระชาลีจึงได้ทูลขอให้ไปรับพระบิดาพระมารดานิวัติพระนคร  ในขณะเดียวกันเจ้านครลิงคราษฏร์ได้คืนช้างปัจจัยนาคแก่นครสีพี
          กัณฑ์ที่ 12 ฉกษัตริย์  พระเจ้ากรุงสญชัยใช้เวลา 1 เดือน กับ 23 วัน  จึงเดินทางถึงเขาวงกต  เสียงโห่ร้องของทหารทั้ง 4  เหล่า  ทำให้พระเวสสันดรทรงคิดว่าเป็นข้าศึกมาโจมจีนครสีพี  จึงชวนพระนางมัทรีขึ้นไปแอบดูที่ยอดเขา  พระนางมัทรีทรงมองเห็นกองทัพพระราชบิดาจึงได้ตรัสทูลพระเวสสันดร  และเมื่อทั้งหกกษัตริย์ได้พบกันทรงกันแสงสุดประมาณ  รวมทั้งทหารเหล่าทัพทำให้ป่าใหญ่สนั่นครั่นครืน  พระอินทร์จึงได้ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมาประพรมกษัตริย์ให้หายเศร้าโศกและฟื้นพระองค์
          กัณฑ์ที่ 13 นครกัณฑ์  พระเจ้ากรุงสญชัยตรัสสารภาพผิด  พระเวสสันดรจึงทรงลาผนวชพร้อมทั้งพระนางมัทรี  และเสด็จกลับสู่สีพีนคร  เมื่อเสด็จถึงจึงรับสั่งให้ชาวเมืองปล่อยสัตว์ที่กักขัง  ครั้นยามราตรีพระเวสสันดรทรงปริวิตกว่า  รุ่งเช้าประชาชนจะแตกตื่นมารับบริจาคทาน  พระองค์จะประทานสิ่งใดให้แก่ประชาชน  ท้าวโกสีย์ได้ทราบจึงบันดาลให้มีฝนแก้ว 7 ประการ  ตกลงมาในนครสีพีสูงถึงหน้าแข้ง  พระเวสสันดรจึงทรงประกาศให้ประชาชนมาขนเอาไปตามปรารถนา  ที่เหลือให้ขนเข้าพระคลังหลวง
ในกาลต่อมาพระเวสสันดรเถลิงราชสมบัติปกครองนครสีพีโดยทศพิธราชธรรม  บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนมายุ
คำศัพท์
กรุงกบิลพัสดุ์  =  ชื่อเมืองหลวงของแคล้นสักกะ  เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ  ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล  ติดชายแดนตอนเหนือของประเทศอินเดีย
คาถาพัน  =  บทประพันธ์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่แต่งเป็นภาษาบาลีล้วน ๆ พันบท  เรียกการเทศน์มหาเวสสันดรชาดกที่เป็นคาถาล้วน ๆ อย่างนี้ว่า  เทศน์คาถาพัน
จุติ  =  เคลื่อน  เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง  มักใช้แก่เทวดา
ดาวดึงส์สวรรค์  =  ชื่อสวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น  มีพระอินทร์เป็นผู้ครอง
ทศบารมี  =  บารมี 10 ประการ  ได้แก่  ทาน  ศีล  เนกขัมมะ  ปัญญา  วิริยะ  ขันติ  สัจจะ  อธิษฐาน  เมตตา  อุเบกขา
เนรเทศ  =  บังคับให้ออกไปเสียจากประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตน
บุตรทารทาน  =  การให้ทานโดยสละบุตรและภรรยา (ทาร)
ปิยบุตรทาน  =  ให้ลูกรักเป็นทาน
ฝนโบกขรพรรษ  =  ฝนที่มีสีแดง  ฝนชนิดนี้กล่าวไว้ว่าใครอยากจะให้เปียก  ก็เปียก  ถ้าไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก  เหมือนน้ำตกลงบนใบบัว
พิสดาร  =  กว้างขวาง  ละเอียดลออ  (ใช้แก่เนื้อความ)  แปลก  พิลึก (ปาก)
มหาชาติ  =  เรียกเวสสันดรชาดกว่า  มหาชาติ  การเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกเรียกว่า  เทศน์มหาชาติ
ยมกปฏิหาริย์  =  ปาฏิหารย์ที่แสดงเป็นคู่ ๆ เป็นปาฏิหารย์ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ต้นมะม่วงซึ่งเรียกว่า  คัณฑามพฤกษ์  คือทรงบันดาลท่อน้ำท่อไฟจากส่วนของพระกายเป็นคู่ ๆ กัน
ลาผนวช  =  มีความหมายาเดียวกับลาสิขา  คือลาสึก  ลาจากเพศสมณะ
สัตตสดกมหาทาน  =  การทำทานครั้งใหญ่โดยให้สิ่งของ 7 อย่าง  อย่างละ 700 ได้แก่  ช้าง  ม้า  รถ  สตรี  แม่โคนม  ทาสชาย  ทาสหญิง
อนุโมทนา  =  ยินดีตาม  ยินดีด้วย  พลอยยินดี
อานิสงส์  =  ผลแห่งกุศลกรรม  ผลบุญ  ประโยชน์
อาศรม  =  ที่อยู่ของนักพรต
วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
          คุณค่าด้านวรรณศิลป์
          เนื่องจากเรื่องที่นำมาเรียนนี้เป็นเรื่องเล่าในลักษณะความเรียงจึงเป็นร้อยแก้ว  บรรยายโวหาร  ในส่วนที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างจากเนื้อเรื่องจริง  ได้ยกจากตอนพระอจุตฤาษีบอกเส้นทางไปเขาวงกตแก่ชูชก  ซึ่งได้พรรณนาโดยใช้คำอนังการ  และสัมผัสแพรวพราว  เช่น
          "แลถนัดในเบิ้องหน้าโน้น  ก็เขาใหญ่  ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพยับเมฆ  มีพรรณเขียวขาวดำแดงดูดิเรก  ดั่งรายรัตนนพมหณีแนมน่าใคร่ชม  ครั้นแสงพระสุริยะส่งระดมก็ดูเด่นดั่งดวงดาว  วาวแวววะวาบ ๆ ที่เวิ้งวุ้ง  วิจิตรจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพิ่งคัคนัมพรพื้นนภากาศ  บ้างก็ก่อเกิดก้อนประหลาดศิลาลายและละเลื่อม ๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อม..."
                                                                                                                                                                         (กัณฑ์ที่ 7 มหาพน)
          สำนวนที่มาจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่ใช้ในปัจจุบัน  เช่น
          ชักแม่น้ำทั้งห้า  หมายถึง  พูดจาหว่านล้อมด้วยคำยกยอ  ดังที่ชูชกจะกล่าวขอสองกุมารต่อพระเวสสันดรก็ได้พูดจาชักแม่น้ำทั้งห้า (คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ)  มาเปรียบเทียบเสียก่อนแล้วจึงย้อนขอในภายหลัง
          ตีปลาหน้าไซ  หมายถึง  ตีหรือกระทุ่มน้ำตรงหน้าไซให้ปลาแตกตื่นหนีไปจากไซที่ดักไว้  เป็นการทำทำที่ขัดขวางผลประโยชน์ที่ควรมีควรได้อยู่แล้ว  เสมือนตอนที่ชูชกตีสองกุมารต่อหน้า  ทำให้พระเวสสันดรโกรธเคือง
          คุณค่าด้านแนวคิดและคติชีวิต
          1.  การทำบุญจะให้ทำเสร็จสมประสงค์ต้องอธิษฐานจิต  ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้  ความปรารถนาที่จะสำเร็จสมดังตั้งใจผู้นั้นต้องมีศีลบริบูรณ์กล่าวคือ
                     -  ต้องกระทำความดี
                     -  ต้องรักษาความดีนั้นไว้
                     -  หมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น
          2.  การทำความดีต้องทำเรื่อยไป  ทุกชาติทุกภพต่อเนื่องไม่ขาดสาย
          3.  ในเรื่องมหาชาติได้แสดงตัวอย่างของพระชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วยทศบารมี  เห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีอันยากยิ่งที่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะทำได้
          4.  คุณค่าของมหาชาติเป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัดในศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในจารึกนครชุม  ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นวรรณคดีลายลักษณ์อักษณ์ที่เก่าแก่ที่สุด
          5.  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ  ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
          6.  สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีทางศาสนาที่สำคัญเกี่ยวกับการทำบุญ  ฟังเทศน์มหาชาติให้จบวันเดียวครบบริบูรณ์ ทั้ง 13 กัณฑ์  เป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
                     -  เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีริยเมตไตยในอนาคต
                     -  เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพยสมบัติมโหฬาร
                     -  เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
                     -  เมื่อถึงยุคพระศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
                     -  เมื่อได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรม  เป็นพระอริยบุคคลในบวรพระพุทธศาสนา
          7.  มหาชาติใสนแต่ละท้องถิ่นมักจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ความเชื่อได้อย่างชัดเจน
          มหาชาติ  หรือเวสสันดรชาดกมีคุณค่าทั้งด้านเนื้อความและด้านวรรณศิลป์เพราะแต่ละสำนวนเกิดขึ้นจากความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนา  ทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  สำคัญของคนในท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น